การรักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากปล่อยให้ความดันโลหิตสูงต่อเนื่องโดยไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อวัยวะสำคัญในร่างกายอาจถึงขั้น ‘พัง’ ได้ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้ใหญ่ 1 ใน 3 ป่วยเป็นภาวะความดันโลหิตสูง และคาดว่าจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ภาวะความดันโลหิตสูงนี้ เกิดจากหลายปัจจัยรวมถึงสภาพแวดล้อม พฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น บริโภคอาหารที่มีรสชาติจัดจ้าน เช่น อาหารรสเค็ม หวาน มันสูง การขาดการออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ความเครียดก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความดันโลหิตที่สูงขึ้นได้ ความดันโลหิตสูงถูกเรียกว่า ‘ภัยเงียบ’ เนื่องจากอาการอาจไม่ชัดเจนจนกว่าจะถึงระยะที่เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น วิงเวียนศีรษะ มีเลือดกำเดาไหล หอบหายใจเร็ว แน่นหน้าอก หรือมือเท้าชา เป็นต้น และเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่นำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง หากปล่อยให้ภาวะความดันโลหิตสูงไม่ได้รับการควบคุมอาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงต่ออวัยวะสำคัญของร่างกาย ได้แก่ 1. สมอง : ความดันโลหิตสูงอาจทำให้เกิดหลอดเลือดสมองตีบ อุดตัน หรือแตก นำไปสู่อาการอัมพฤกษ์ อัมพาต เสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือเลือดออกในสมอง 2. หัวใจ : ความดันโลหิตสูงส่งผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจโต และหลอดเลือดหัวใจหนาและแข็งตัวขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่อาการเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด หรือหัวใจล้มเหลวจนเสียชีวิตในที่สุด […]