“โรคหลอดเลือดสมอง” หรือ Stroke เป็นภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงอย่างเฉียบพลัน เนื่องจากหลอดเลือดในสมองแตก อุดตัน หรือ “หลอดเลือดสมองตีบ” นับว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 และโรคที่ทำให้เกิดความพิการสูงสุดในคนไทย โดยพบผู้ป่วยรายใหม่กว่า 2 แสนรายต่อปี และมีแนวโน้มอายุน้อยลงเรื่อยๆ มี “อาการสโตรก” ที่สำคัญ ได้แก่ อ่อนแรงหรือชาครึ่งซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย พูดลำบาก สับสน มองเห็นภาพผิดปกติ นอกจากปัจจัยเสี่ยงหลักอย่างความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่หลายคนอาจละเลย
“Health Focus Clinic” เราจึงอยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้กันให้มากขึ้น โดยเฉพาะตัวการที่หลายคนอาจมองข้าม ซึ่งแฝงอยู่ในชีวิตประจำวันโดยไม่รู้ตัว เพื่อลดโอกาสที่จะเป็น Stroke อย่างกะทันหัน มาดูกันเลยว่ามีอะไรบ้างครับ
ปัจจัยเสี่ยงของ “โรคหลอดเลือดสมอง” ที่หลายคนมักละเลย
- ตัวการเงียบจากภาวะ “รสหวานมัน เค็มจัด”
- การบริโภคน้ำตาลและเกลือในปริมาณสูง จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน
- น้ำตาลที่สูงเกินเป็นเวลานาน ทำให้ผนังหลอดเลือดเสื่อมและเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง
- โซเดียมที่ได้จากเกลือ ทำให้ร่างกายเก็บน้ำ เพิ่มปริมาณเลือด ความดันโลหิตสูงขึ้น
- ปัจจุบันคนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ย 28 ช้อนชา และเกลือเกือบ 2 เท่าของปริมาณที่แนะนำต่อวัน
- การนอนกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับ
- ผู้ที่นอนกรนเสียงดังหรือมีอาการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ เรียกว่าภาวะ Sleep Apnea
- ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนขณะหลับ ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงและเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- เมื่อขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน เลือดจะหนืดข้น เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดสมองได้ง่าย
- ผู้ที่เป็น Sleep Apnea มีความเสี่ยงเป็น Stroke สูงขึ้น 3-4 เท่าของคนปกติ
- โรคหลอดเลือดส่วนปลาย
- เกิดจากการตีบแคบ อุดตัน หรือแข็งตัวของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงขาและเท้า
- พบบ่อยในผู้สูงอายุ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และสูบบุหรี่
- หลอดเลือดส่วนปลายที่เสื่อม จะส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดทั่วร่างกาย รวมถึงสมองด้วย
- เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง 2-4 เท่า
- ฮอร์โมนทดแทนวัยทอง
- ผู้หญิงวัยทองที่ใช้ฮอร์โมนทดแทนเอสโตรเจน โดยเฉพาะแบบรับประทาน มีความเสี่ยงเกิดลิ่มเลือดอุดตันสูงขึ้น
- เพิ่มความเสี่ยงของ Stroke ได้ถึง 30-40% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้
- ก่อนใช้ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเหมาะสมและข้อบ่งชี้ในแต่ละราย
- การใช้ยาคุมกำเนิดในสตรีวัยเจริญพันธุ์
- ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน มีผลให้เลือดแข็งตัวได้ง่ายขึ้น
- เพิ่มความเสี่ยงของหลอดเลือดสมองอุดตันประมาณ 1.5-2 เท่าของคนทั่วไป
- ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 35 ปี มีประวัติครอบครัวเป็น Stroke หรือสูบบุหรี่ จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นไปอีก
เครียด อารมณ์ผันผวน ก็เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองได้
ความเครียดเรื้อรังจะกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนความเครียด ซึ่งมีผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วและแรง มีภาวะอารมณ์แปรปรวน เช่น โกรธ ตื่นเต้น ตกใจ ง่าย จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิตอย่างฉับพลัน หากไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี มักจะนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ติดการพนัน ซึ่งล้วนเพิ่มโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองทั้งสิ้น ดังนั้น การจัดการความเครียดและฝึกควบคุมอารมณ์ จึงเป็นอีกแนวทางสำคัญในการลดความเสี่ยงของโรคนี้
ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ใช้ประจำเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองจริงหรือ
ยากลุ่ม NSAIDs เช่น Ibuprofen, Diclofenac, Naproxen หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองได้ กลไกคือยาไปยับยั้งการสร้างสารซึ่งมีหน้าที่ป้องกันหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดเกิดการอักเสบและเสื่อมได้ง่ายอย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้เป็นประจำ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และใช้ในขนาดต่ำสุดที่ให้ผลในการรักษา
โรคไมเกรน ไม่ใช่แค่ปวดหัว แต่เพิ่มความเสี่ยง “โรคหลอดเลือดสมอง” ด้วย
ไมเกรน เป็นโรคปวดศีรษะข้างเดียวปานกลางถึงรุนแรง มักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย สาเหตุหนึ่งคือการหดตัวและขยายตัวของหลอดเลือดสมองผิดปกติ ทำให้ผนังหลอดเลือดชั้นในฉีกขาดและอักเสบ ผู้ที่เป็นไมเกรนชนิดมีออร่า (Migraine with Aura) หรือไมเกรนแบบครึ่งซีก จะมีความเสี่ยง Stroke สูงกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่า ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงของผู้เป็นไมเกรน ได้แก่ สูบบุหรี่ ใช้ยาคุมกำเนิด อ้วน และขาดการออกกำลังกาย
ดื่มน้ำน้อย ขาดน้ำเรื้อรัง เสี่ยง “โรคหลอดเลือดสมอง” ได้อย่างไร
ร่างกายที่ขาดน้ำเรื้อรัง จะทำให้เลือดข้นและไหลเวียนได้ไม่สะดวก นำไปสู่ภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคหลอดเลือดสมอง อีกทั้งน้ำยังมีส่วนช่วยละลายและขับสารพิษออกจากร่างกาย ซึ่งหากมีสะสมมากจะไปทำลายผนังหลอดเลือดได้ คนทั่วไปควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ผู้สูงอายุและเด็กเล็กจะมีความเสี่ยงต่อการขาดน้ำได้ง่ายกว่า
ข้อเข่าเสื่อม ปวดข้อ เดินไม่ค่อยได้ ก็มีความเกี่ยวข้องกับ “โรคหลอดเลือดสมอง” เช่นกัน
ผู้ที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อม กระดูกทับเส้น หรือโรคข้อต่างๆ มักจะเคลื่อนไหวร่างกายได้น้อยลง เกิดจากการไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจและหลอดเลือดอ่อนแอ ไม่แข็งแรง เพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มนำไปสู่โรคอ้วน ไขมันและน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองทั้งสิ้น ดังนั้นควรหามาตรการป้องกันและรักษาโรคข้อตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงปรับการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพข้อ
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ ตัวการสำคัญที่คุณอาจไม่เคยรู้
หลอดเลือดดำอักเสบหรืออุดตันจากลิ่มเลือด มักมีอาการบวม ปวด ร้อน ตึงที่ขา มีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ มีประวัติครอบครัวเป็น นอนนิ่งนานๆ สูบบุหรี่ กินยาคุมกำเนิด เป็นต้น หากลิ่มเลือดหลุดเข้ากระแสเลือด แล้วไปอุดตันที่ปอดหรือสมอง จะเกิดอาการรุนแรงถึงชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อสงสัยว่ามีอาการของลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
ที่ “Health Focus Clinic” นอกจากนี้มีบริการให้คำปรึกษาเชิงลึกและติดตามผลกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของเรา เพื่อให้มั่นใจว่าทุกท่านจะสามารถลดความเสี่ยงและมีสุขภาพที่แข็งแรงได้
อย่างไรก็ตาม การที่จะห่างไกลจาก “โรคหลอดเลือดสมอง” ได้อย่างยั่งยืน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือความใส่ใจ และความตระหนักของทุกคนในการดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันโรคแต่เนิ่นๆ นั่นเองครับ