🧀🥓 หลายคนมีรูปร่างดี สมส่วน ไม่อ้วน แต่พอไปตรวจร่างกายกลับพบว่ามี “ไขมันในเลือดสูง” โดยเฉพาะคนที่อ้วนยาก กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน ก็เลยย่ามใจกินอาหารไขมันสูงๆ ขนมหวาน เบเกอรี่ อาหารบุฟเฟ่ต์ ปิ้งย่าง ชาบู ฯลฯ หากใครมีพฤติกรรมเช่นนี้ คุณอาจกำลังเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพซึ่งถือว่าเป็นภัยเงียบที่ไม่แสดงอาการอย่างภาวะไขมันในเลือดสูงอยู่ก็เป็นได้ค่ะ
เพราะ “ไขมันส่วนเกิน” หรือ “คอเลสเตอรอล” ที่สะสมในร่างกาย ไม่ได้อยู่แต่ในชั้นพุงค่ะ แต่จะถูกสะสมอยู่ใน 3 ส่วนหลักๆ คือ
- ไขมันในช่องท้อง (Visceral Fat)
- ไขมันใต้ชั้นผิวหนัง
- ไขมันในเส้นเลือด
ดังนั้น คนที่กินตามใจปาก แต่กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน จริงๆ แล้วไขมันอาจจะไม่ได้หายไปไหน แต่สะสมอยู่ในหลอดเลือดเป็นจำนวนมาก ซึ่งเราไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตานั่นเองค่ะ
เมื่อร่างกายมีไขมันในเลือดมากเกินไป ก็จะทำให้ไขมันไปเกาะตามผนังหลอดเลือด กลายเป็นกำแพงคราบไขมันที่เกาะตัวหนา (Plaque) ส่งผลให้หลอดเลือดตีบหรืออุดตัน ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจและอวัยวะต่างๆ ในร่างกายไม่สะดวก ซึ่งอาจนำมาสู่ภาวะหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจและสมองอุดตัน (Stroke) จนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ในอนาคต
ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนอ้วนง่ายหรืออ้วนยาก ก็ต้องระวังภาวะไขมันในเส้นเลือดสูงพอๆ กันค่ะ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของภาวะไขมันในเลือดสูงก็มักจะมาจากพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่เหมาะสมของเราเอง หากต้องการควบคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับที่ดีได้ เราก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารดังต่อไปนี้ค่ะ
1️⃣ ลดหรือเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ติดไขมัน เนื้อสัตว์แปรรูป น้ำมันจากสัตว์ เนย รวมถึงผลิตภัณฑ์จากนมที่เป็นไขมันเต็มส่วน โดยอาจเลือกแบบพร่องมันเนยหรือขาดมันเนยแทน
2️⃣ ลดหรือเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์ เช่น คุกกี้ โดนัท เค้ก เฟรนช์ฟรายส์ แฮมเบอร์เกอร์ ขนมกรุบกรอบทั้งหลาย หรือควรรับประทานแต่น้อย
3️⃣ เลือกใช้น้ำมันพืชแทนน้ำมันจากสัตว์ เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก (ยกเว้นน้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ซึ่งประกอบไปด้วยกรดไขมันอิ่มตัวและอาจเพิ่มระดับแอลดีแอลคอเลสเตอรอลในเลือด) กินไขมันให้น้อยเท่าที่จำเป็นในแต่ละวัน คือไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา (30 กรัม)
4️⃣ เน้นทานไขมันไม่อิ่มตัว เช่น ถั่วเปลือกแข็ง (วอลนัท ถั่วลิสง อัลมอนด์) เป็นมื้อว่างไม่เกิน 1 อุ้งมือต่อวัน เพราะหากทานมากเกินไป ก็อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้
นอกจากนี้ การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิค ให้เป็นประจำ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ก็สามารถป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูงได้ ที่สำคัญคือ ต้องควบคุมแคลอรี่ในมื้ออาหารและไม่ทานตามใจปาก เพราะไม่ว่าจะอ้วนง่ายหรืออ้วนยาก ก็เสี่ยงภาวะไขมันในเส้นเลือดสูงได้เช่นกันหากทานอย่างไม่ระวังนะคะ
#อย่าฝากชีวิตไว้กับหมอ #Diet #Health #Disease #ไขมันในเส้นเลือดสูง #ไขมันส่วนเกิน