ในสมัยก่อน “โรคหัวใจ” นั้นเคยถือว่าเป็นโรคของผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันคงไม่เป็นความจริงอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากมีคนป่วยเป็นโรคหัวใจตั้งแต่อายุยังน้อยสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี จากข้อมูลในปี 2564 พบว่า “โรคหัวใจขาดเลือด” คือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 4 ของคนไทย (รองจากโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดในสมอง และปอดบวม) โดยมีผู้เสียชีวิตมากถึงปีละกว่า 20,000 คน! แล้วสาเหตุเป็นเพราะอะไร? ลองมาฟังคำชี้แจงจากผู้เชี่ยวชาญกันดูค่ะ
ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (CDC) ระบุว่า เหตุผลที่โรคหัวใจเกิดขึ้นในกลุ่มวัยหนุ่มสาวมากขึ้นก็คือ ในปัจจุบันมีปัจจัยที่ทำให้คนเสี่ยงต่อโรคหัวใจตั้งแต่อายุน้อยกันมากขึ้น ได้แก่ การมีภาวะโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ซึ่งคนเริ่มเป็นกันมากขึ้นตั้งแต่ช่วงอายุ 35 ปี นอกจากนี้ การสูบบุหรี่หรือมลพิษในอากาศก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ เนื่องจากมีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อหลอดเลือดและหัวใจนั่นเองค่ะ
แต่ในข่าวร้ายยังมีข่าวดี เพราะโรคหัวใจส่วนใหญ่นั้นมักมีสัญญาณเตือนที่สามารถสังเกตได้ไม่ยาก และรักษาได้ทันก่อนที่จะสายเกินไป โดยอาการที่ควรสังเกตและเฝ้าระวังนั้น ได้แก่ :
- มีอาการเจ็บหน้าอกเหมือนมีของหนักกดทับ
- เจ็บหน้าอกร้าวไปกราม ขากรรไกร คอ แขน ไหล่ หลัง
- เจ็บหน้าอกร่วมกับเหงื่อออก ตัวเย็น ใจสั่น
- เหนื่อยง่าย ออกกำลังกายได้น้อยลง
- มีภาวะหัวใจล้มเหลว ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ
หากใครรู้สึกว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการเหล่านี้ ก็ควรไปพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะคนที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีภาวะอ้วน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ หรือครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหัวใจ ก็ควรระวังตัวและหันมาดูแลรักษาสุขภาพให้ดีขึ้น