😰หุ่นผอมเพรียว ไม่มีพุง อาจเสี่ยง.. “ไขมันในเส้นเลือดสูง” ได้ ⚠️

🧀🥓  หลายคนมีรูปร่างดี สมส่วน ไม่อ้วน แต่พอไปตรวจร่างกายกลับพบว่ามี “ไขมันในเลือดสูง” โดยเฉพาะคนที่อ้วนยาก กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน ก็เลยย่ามใจกินอาหารไขมันสูงๆ ขนมหวาน เบเกอรี่ อาหารบุฟเฟ่ต์ ปิ้งย่าง ชาบู ฯลฯ หากใครมีพฤติกรรมเช่นนี้ คุณอาจกำลังเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพซึ่งถือว่าเป็นภัยเงียบที่ไม่แสดงอาการอย่างภาวะไขมันในเลือดสูงอยู่ก็เป็นได้ค่ะ

เพราะ “ไขมันส่วนเกิน” หรือ “คอเลสเตอรอล” ที่สะสมในร่างกาย ไม่ได้อยู่แต่ในชั้นพุงค่ะ แต่จะถูกสะสมอยู่ใน 3 ส่วนหลักๆ คือ 

  1. ไขมันในช่องท้อง (Visceral Fat)
  2. ไขมันใต้ชั้นผิวหนัง
  3. ไขมันในเส้นเลือด

ดังนั้น คนที่กินตามใจปาก แต่กินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน จริงๆ แล้วไขมันอาจจะไม่ได้หายไปไหน แต่สะสมอยู่ในหลอดเลือดเป็นจำนวนมาก ซึ่งเราไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตานั่นเองค่ะ

เมื่อร่างกายมีไขมันในเลือดมากเกินไป ก็จะทำให้ไขมันไปเกาะตามผนังหลอดเลือด กลายเป็นกำแพงคราบไขมันที่เกาะตัวหนา (Plaque) ส่งผลให้หลอดเลือดตีบหรืออุดตัน ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจและอวัยวะต่างๆ ในร่างกายไม่สะดวก ซึ่งอาจนำมาสู่ภาวะหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดหัวใจและสมองอุดตัน (Stroke) จนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ในอนาคต

ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนอ้วนง่ายหรืออ้วนยาก ก็ต้องระวังภาวะไขมันในเส้นเลือดสูงพอๆ กันค่ะ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของภาวะไขมันในเลือดสูงก็มักจะมาจากพฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่เหมาะสมของเราเอง หากต้องการควบคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับที่ดีได้ เราก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารดังต่อไปนี้ค่ะ

1️⃣ ลดหรือเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ติดไขมัน เนื้อสัตว์แปรรูป น้ำมันจากสัตว์ เนย รวมถึงผลิตภัณฑ์จากนมที่เป็นไขมันเต็มส่วน โดยอาจเลือกแบบพร่องมันเนยหรือขาดมันเนยแทน

2️⃣ ลดหรือเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันทรานส์ เช่น คุกกี้ โดนัท เค้ก เฟรนช์ฟรายส์ แฮมเบอร์เกอร์ ขนมกรุบกรอบทั้งหลาย หรือควรรับประทานแต่น้อย

3️⃣ เลือกใช้น้ำมันพืชแทนน้ำมันจากสัตว์ เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก (ยกเว้นน้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ซึ่งประกอบไปด้วยกรดไขมันอิ่มตัวและอาจเพิ่มระดับแอลดีแอลคอเลสเตอรอลในเลือด) กินไขมันให้น้อยเท่าที่จำเป็นในแต่ละวัน คือไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา (30 กรัม)

4️⃣ เน้นทานไขมันไม่อิ่มตัว เช่น ถั่วเปลือกแข็ง (วอลนัท ถั่วลิสง อัลมอนด์) เป็นมื้อว่างไม่เกิน 1 อุ้งมือต่อวัน เพราะหากทานมากเกินไป ก็อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้

นอกจากนี้ การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น เดิน วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิค ให้เป็นประจำ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ก็สามารถป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูงได้ ที่สำคัญคือ ต้องควบคุมแคลอรี่ในมื้ออาหารและไม่ทานตามใจปาก เพราะไม่ว่าจะอ้วนง่ายหรืออ้วนยาก ก็เสี่ยงภาวะไขมันในเส้นเลือดสูงได้เช่นกันหากทานอย่างไม่ระวังนะคะ

#อย่าฝากชีวิตไว้กับหมอ #Diet #Health #Disease #ไขมันในเส้นเลือดสูง #ไขมันส่วนเกิน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *