“โรคหลอดเลือดสมอง” หรือที่เรียกว่า Stroke เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่เกิดจากการขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้เนื้อสมองถูกทำลายและเสียการทำงานไป ผู้ที่เคยมี “อาการสโตรก” มาแล้ว นอกจากต้องพักฟื้นและทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำเป็นอย่างมาก เพราะการเกิด “อาการสโตรก” ซ้ำซ้อนจะทำให้สภาพร่างกายทรุดโทรมลงไปอีก บางรายถึงขั้นพิการหรือเสียชีวิตได้
รู้จัก “โรคหลอดเลือดสมอง” ให้มากขึ้น
“โรคหลอดเลือดสมอง” เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ทั้งจากภาวะ “หลอดเลือดสมองตีบ” อุดตัน หรือแตก ทำให้เนื้อสมองขาดออกซิเจนและสารอาหาร จนเซลล์สมองค่อยๆ ตายลงในที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความบกพร่องในการทำงานของระบบประสาทตามมา เช่น อาการอัมพาตแขนขาซีกใดซีกหนึ่ง พูดลำบาก สับสน มองเห็นภาพซ้อน เดินเซ เป็นต้น โดยระยะเวลาที่เนื้อสมองจะถูกทำลายขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการขาดเลือด และความรวดเร็วของการรักษา
ป้องกัน Stroke ด้วย 8 วิธีง่ายๆ ทำได้ด้วยตัวเอง
-
ควบคุมความดันโลหิต ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ความดันโลหิตสูงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับต้นๆ ของ “โรคหลอดเลือดสมอง” เพราะจะไปทำลายผนังหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดการตีบแคบ ตัน และโป่งพอง จนมีโอกาสแตกทะลุได้ง่าย ควรวัดความดันโลหิตสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ร่วมกับการรับประทานยาลดความดันตามแพทย์สั่ง
-
ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จะทำให้ผนังหลอดเลือดเสื่อมและเปราะบาง นำไปสู่การเกิด “โรคหลอดเลือดสมอง” ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมาย งดอาหารหวาน มัน เค็ม และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการใช้ยาตามแพทย์สั่ง
-
ลดระดับไขมันในเลือด
คอเลสเตอรอลชนิดร้าย (LDL) ที่สูง จะไปเกาะตามผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดการอักเสบและตีบแคบ เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดสมองตีบได้ง่าย ดังนั้นควรตรวจเช็คระดับไขมันในเลือดเป็นประจำ หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูงโดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว เพิ่มการรับประทานผัก ผลไม้ ถั่ว และธัญพืชไม่ขัดสี
-
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน จะช่วยให้หัวใจแข็งแรง กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ลดความดันโลหิต ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดได้เป็นอย่างดี
-
ควบคุมน้ำหนักตัว
ภาวะอ้วนลงพุง จะส่งผลให้ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของ “โรคหลอดเลือดสมอง” ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รับประทานอาหารแต่พอดี ไม่จุกจิก และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
-
เลิกสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
การสูบบุหรี่จะทำลายผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดการเสื่อมและแข็งตัว เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้ง่าย ส่วนแอลกอฮอล์จะไปกดการทำงานของสมอง ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เพิ่มโอกาสเกิด “โรคหลอดเลือดสมอง” ได้เช่นกัน
-
หลีกเลี่ยงความเครียดและพักผ่อนให้เพียงพอ
ความเครียดเรื้อรังจะกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนความเครียด ซึ่งมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น เพิ่มภาระการทำงานของหัวใจมากขึ้น จึงควรเรียนรู้วิธีผ่อนคลายความเครียด เช่น การฝึกหายใจ ทำสมาธิ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง
-
ตรวจร่างกายและคัดกรองโรคเป็นประจำ
ควรไปตรวจร่างกายและคัดกรองโรคเรื้อรังต่างๆ กับแพทย์เป็นประจำ อย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อประเมินความเสี่ยงและติดตามการรักษา โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็น “โรคหลอดเลือดสมอง” ถือว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป ควรเข้ารับการตรวจร่างกายบ่อยขึ้นและปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ หากเกิด “อาการสโตรก” อย่างเช่น แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ปากเบี้ยว พูดลำบาก มองเห็นภาพซ้อน ต้องรีบมาพบแพทย์ฉุกเฉินทันที อย่าปล่อยไว้เนิ่นนาน ยิ่งรักษาเร็วก็จะยิ่งมีโอกาสหายและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติมากขึ้น