เรื่องที่ควรรู้ก่อนฉีดวัคซีน

ความดันโลหิตสูง ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม

– ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่อยู่ในภาวะคงที่สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ทันที เพื่อลดโอกาสติดเชื้อ เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ออาการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตหากติดเชื้อโควิด 19 ขึ้นมา

– ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมีอาการยังไม่เสถียร หรือยังมีอาการที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น มีความดันโลหิตตัวบนมากกว่าหรือเท่ากับ 180 มิลลิเมตรปรอท หรือยังต้องเข้าพักรักษาในโรงพยาบาล ไม่ควรฉีดวัคซีน ต้องควบคุมอาการให้คงที่ก่อนจึงสามารถฉีดได้

เตรียมตัวอย่างไรก่อนฉีดวัคซีนโควิด

สำหรับการเตรียมตัวของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงไม่ได้แตกต่างจากการเตรียมตัวก่อนฉีดวัคซีนโควิดของบุคคลทั่วไปมากนัก โดยมีข้อแนะนำตามนี้ค่ะ

  1. ควบคุมความดันโลหิตของตัวเองไม่ให้เกินเกณฑ์ หากมีความดันโลหิตสูงเกินกว่าปกติ ควรปรึกษาแพทย์
  2. กินยาลดความดันโลหิตและยาประจำตัวอื่น ๆ ได้ตามปกติไม่ควรหยุดยาเองหรือปรับยาเพื่อฉีดวัคซีน เว้นแต่กรณีที่แพทย์แนะนำให้หยุดยาชั่วคราว เพื่อให้ผลลัพธ์ของวัคซีนแม่นยำขึ้น
  3. กรณีกินยาต้านเกล็ดเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ระดับ INR (ค่าการแข็งตัวของเลือด) ไม่ควรเกิน 3 เท่า
  4. ดื่มน้ำอย่างน้อย 3-5 แก้ว ในช่วง 12 ชั่วโมง ก่อนฉีดวัคซีน เพื่อช่วยให้หลอดเลือดขยาย การไหลเวียนโลหิตดีขึ้น
  5. คืนก่อนฉีดวัคซีนควรนอนให้หลับ พักผ่อนให้เพียงพอ กินยาให้ครบ ถ้ากังวลมากอาจรับประทานยาคลายกังวลก่อนนอน
  6. เช้าวันฉีดวัคซีนควรกินอาหารเช้า กินยา ดื่มน้ำให้เรียบร้อย สามารถดื่มกาแฟได้ตามปกติถ้าเป็นคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำอยู่แล้ว
  7. ถ้ามีไข้ มีอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน
  8. สวมเสื้อผ้าที่สะดวกต่อการฉีดวัคซีนบริเวณต้นแขน
  9. เตรียมบัตรประชาชนให้พร้อมก่อนออกจากบ้าน และเตรียมข้อมูลต่าง ๆ ทั้งประวัติการรักษา ชื่อยา การแพ้ยา เพื่อแจ้งให้แพทย์ที่จุดฉีดวัคซีนทราบ
  10. สวมหน้ากากอนามัย และพกเจลแอลกอฮอล์ติดตัวไปด้วย

 

สิ่งที่ควรทำขณะฉีด-หลังฉีดวัคซีนโควิด

  1. ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันพื้นฐานอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์หลังสัมผัสพื้นผิวใด ๆ ทุกครั้ง
  2. ชั่งน้ำหนัก วัดอุณหภูมิ วัดความดันโลหิตตามขั้นตอน ถ้าพบว่ามีความดันโลหิตสูง แพทย์จะให้นั่งพักสักครู่เพื่อให้ความดันลดลง จากนั้นจึงวัดใหม่
  3. แจ้งข้อมูลสุขภาพกับพยาบาลหรือแพทย์โดยละเอียด เช่น

– ประวัติโรคประจำตัว

– หากเป็นโรคเรื้อรังแต่ขาดยา ขาดการรักษา ต้องแจ้งแพทย์ด้วย

– ยาหรือวิตามินที่กินเป็นประจำ

– ประวัติแพ้ยา แพ้อาหาร หรือแพ้สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ

– อาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ หากมีควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

– ตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์

– ผู้เป็นโรคเลือดออกง่าย ต้องแจ้งแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน

– กรณีกินยาต้านเกล็ดเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือด ประเภทวาร์ฟาริน ต้องแจ้งแพทย์ให้ทราบ เพราะอาจมีเลือดออกในกล้ามเนื้อตรงจุดที่ฉีดยา หรือช้ำเลือด ซึ่งจะต้องกดแผลฉีดยาไว้นานกว่าปกติ

  1. ขณะรอฉีดวัคซีนควรทำใจให้สบาย หายใจเข้า-ออกลึก ๆ หรือผ่อนคลายตัวเองด้วยการทำกิจกรรมต่าง ๆ
  2. เลือกฉีดวัคซีนแขนข้างที่ไม่ถนัด ไม่ต้องมองตอนถูกฉีด อย่าเกร็ง และลดการใช้แขนข้างนั้นหลังฉีดวัคซีน
  3. หลังฉีดวัคซีนให้ผ่อนคลาย รอดูอาการในบริเวณที่ฉีดประมาณ 30 นาที ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนโควิด 19 อาจทำให้ผู้ป่วยบางรายมีระดับความดันโลหิตสูงขึ้นชั่วคราวได้แต่หากมีอาการผิดปกติ เช่น แขน-ขาชา ปากเบี้ยว มีไข้ขึ้นสูงมาก หน้ามืด มีผื่นขึ้น หายใจไม่ออก ให้แจ้งแพทย์ทันที
  4. เมื่อนั่งพักครบ 30 นาทีแล้ว แพทย์จะสอบถามอาการ ให้คำแนะนำ พร้อมกับตรวจสอบวัน-เวลานัดหมายการฉีดวัคซีนครั้งต่อไป และรับเอกสารคำแนะนำต่าง ๆ
  5. หลังฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้ว ภายใน 2-4 ชั่วโมง ไม่ควรทำกิจกรรมอะไร เพื่อให้วัคซีนได้ทำงานอย่างเต็มที่
  6. หลังฉีดวัคซีนสามารถกินอาหาร ดื่มน้ำ กินยารักษาโรคประจำตัวได้ตามปกติ
  7. เมื่อกลับถึงบ้าน ให้สังเกตอาการของตัวเอง ถ้ามีไข้สูงมาก มีผื่นลมพิษทั่วตัว ความดันโลหิตลดลง หอบเหนื่อย หายใจติดขัด มีอาการชา ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลที่รักษาประจำ

นพ.​ อรรถ​สิทธิ์​ ศักดิ์​สุธา​พร (หมออรรถ)
ประจำอยู่ที่ Health Focus Clinic
📍The Grove Hathairaj (เดอะ โกรพ หทัยราษฏร์)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *