ถ้าไม่อยากเป็นโรคไตควรดูแล 3 อย่างนี้

โรคไต

“โรคไต” เป็นโรคที่หลายคนกลัวกัน โดยเฉพาะโรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งโรคไตวายเรื้อรังเมื่อเป็นในระดับที่มากแล้วจนถึงระดับหนึ่งก็อาจจะทำให้ต้องล้างไต และอาจจะต้องล้างไตไปตลอดชีวิตได้ โรคไตวายเรื้อรังจะไม่มีอาการจึงต้องอาศัยการตรวจเลือดจากห้องปฏิบัติการถึงจะรู้ว่าเรามีไตวายแล้ว ในบางคนอาจจะสงสัยว่า การฉี่เป็นฟองใช่หรือไม่ มีอาการปวดหลังใช่หรือเปล่า ถึงจะมีเรื่องของไตวาย ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการที่ไม่จำเป็นเลย เพราะฉะนั้นจึงควรตรวจสุขภาพเป็นประจำและคอยเช็คค่าไตอยู่เสมอ ไตวายจะมีอยู่ด้วยกัน 5 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2 เป็นระยะที่ค่าไตปกติดี (ไม่ต้องกังวล)

ระยะที่ 3 ในคนไข้หลายคนไปโรงพยาบาลแล้วหมอบอกว่า ตอนนี้เป็นไตเสื่อมระยะที่ 3 แล้ว คนไข้ตกใจและก็ซึมเศร้าไปเลย คิดว่ามีอาการไตเสื่อมที่มากแล้ว แต่การที่บอกว่าเป็นไตเสื่อมระยะที่ 3 ฟังดูแล้วเหมือนมีเป็นหนักแล้ว แต่ว่าจริงๆ แล้วระยะที่ 1 กับระยะที่ 2 เป็นระยะที่ปกติดี เพราะฉะนั้นไตเสื่อมระยะที่ 3 จึงเป็นระยะแรกเริ่ม ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลหรือตกใจ ซึ่งไตเสื่อมระยะที่ 3 เป็นระยะที่ฟื้นฟูได้ ปกติค่าการกรองของไต (GFR) ถ้าเกิดลดลงต่ำกว่า 60 ถือว่าเป็นไตเสื่อมระยะที่ 3 ซึ่งเป็นไตเสื่อมในระยะแรกเริ่มนั่นเอง

ระยะที่ 4 คือ เกิดไตเสื่อมมากขึ้นจนมีค่าการกรองของไตต่ำกว่า 30

ระยะที่ 5 คือ ค่าการกรองของไตต่ำกว่า 15 จัดเป็นระยะที่จะต้องทำการล้างไตนั่นเอง

ดังนั้นไตวายระยะที่ 3 คือ ระยะแรกเริ่มที่เมื่อรู้เร็วก็จะสามารถฟื้นฟูไตกลับมาเป็นไตปกติได้แน่นอน

วันนี้จึงมาพูดคุยเรื่องถ้าไม่อยากเป็นไตวายเรื้อรังให้ดูแล 3 อย่างนี้ คือ

1. ดูแลเรื่องการทานยา คนไข้ที่มีค่าไตผิดปกติ เริ่มมีไตวาย ให้เริ่มหาเลยว่าคนไข้มีการทานยาอะไรอยู่บ้าง แล้วก็ให้หยุดยาเหล่านั้นที่ไม่จำเป็นไป ซึ่งในหลายคนมีการทานยาพร่ำเพรื่อมากไปหรือทานยาในปริมาณที่เยอะไป โดยในหลายคนที่เป็นโรคเรื้อรังหลายอย่างแล้วจะจ้องทานยาในปริมาณเยอะ ในบางครั้งก็มียาที่ทำร้ายไตหลายๆ ตัวอยู่จึงทำให้เกิดปัญหาไตวายขึ้นมาได้ บางคนทานยาเริ่มจาก 1 ตัวแล้วยาตัวนี้มีผลข้างเคียง จึงทานยาตัวที่ 2 เพื่อรักษาผลข้างเคียงของยาตัวที่ 1 พอยาตัวที่ 2 เกิดผลข้างเคียงอีกจากนั้นจึงทานยาตัวที่ 3 เพื่อลดผลข้างเคียงของยาตัวที่ 2 จึงทำให้มีการทานยาเยอะขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อทานยาหลายๆ ตัวแล้วเป็นยาที่ทำร้ายไตจึงทำให้เกิดไตวายขึ้นมา เพราะฉะนั้นเวลาทานยาควรทานเท่าที่จำเป็น อย่าทานยาพร่ำเพรื่อ สำหรับคนที่ทานยาในปริมาณมากให้ปรึกษาแพทย์ดูว่ายาเหล่านั้นมีตัวไหนที่ทำร้ายไตบ้าง ซึ่งไม่ควรที่จะมียาที่ทำร้ายไตหลายๆ อย่างร่วมกัน ถ้าเกิดกินยาหลายอย่างที่ทำร้ายไตและกินต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดไตวายแน่นอน

2. ดูแลเรื่องค่ายูริกให้ดี หลายคนคิดว่ายูริกสูงทำให้เกิดเก๊าแล้ว นอกจากนั้นยูริกสูงยังเป็นต้นเหตุของการเกิดไตวายและความดันโลหิตสูงอีกด้วย ในหลายคนมียูริกสูงประมาณ 8-9 เลยนั้น แต่ก็ไม่มีอาการอะไรเลย ไม่ปวดข้อ ไม่เป็นเก๊าจึงละเลยที่จะดูแลเรื่องยูริกไป ซึ่งการที่ปล่อยยูริกให้สูงเป็นเวลานานจะทำให้เกิดไตวาย ในคนไข้ตายวายแล้วมาหาหมอนอกจากจะดูเรื่องยาแล้วจะมีการสั่งตรวจเรื่องยูริกด้วย การคุมยูริกจะต้องคุมอาหาร 3 กลุ่มนี้ คือ

2.1. แอลกอฮอล์ จำพวกเหล้า เบียร์ต่างๆ ทำให้ยูริกสูงขึ้น ซึ่งปกติตัวแอลกอฮอล์จะมียูริกสูงอยู่แล้ว แล้วแอลกอฮอล์ยังมากระตุ้นให้ร่างกายสร้างยูริกเพื่มขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นกลุ่มแอลกอฮอล์จึงทำให้ยูริกสูง

2.2. น้ำตาลฟรุกโตสหรือน้ำตาลผลไม้ ในคนที่มียูริกสูงไม่ควรทานผลไม้ที่มีรสหวาน ควรลดปริมาณลงหรืองดได้เลยจะยิ่งดี (แต่ในคนทั่วไปก็ได้ทานตามปกติ) แล้วก็หลีกเลี่ยงการทานน้ำผลไม้ เพราะว่าน้ำผลไม้ยิ่งมีฟรุกโตสสูง เครื่องดื่มรสหวานทุกประเทภ เช่น น้ำอัดลม ชาเขียว เครื่องดื่มเหล่านี้จะใส่น้ำตาลฟรุกโตสทั้งหมด เพราะฉะนั้นเวลาที่ทานเครื่องดื่มที่มีรสหวานก็จะทำให้ฟรุกโตสสูง พอฟรุกโตสสูงก็จะทำให้ยูริกสูง พอเวลาที่ยูริกสูงก็จะทำเกิดไตวายได้นั่นเอง

2.3. เลี่ยงการทานน้ำซุป เพราะว่าในน้ำซุป น้ำแกงต่างๆ มียูริกเยอะ เนื่องจากน้ำซุปเหล่านั้นจะต้มมาจากกระดูกไก่ กระดูกหมู ซึ่งทำให้มียูริกเยอะ แล้วควรหลีกเลี่ยงพวกไก่ เป็ด ด้วย อาหารที่ไม่จำเป็นต้องเลี่ยง คือ ยอดผัก หลายคนเข้าใจผิดว่า ยอดผักทำให้ยูริกสูง ซึ่งมีการทดลองที่ให้ผู้ป่วยทานอาหารชนิดต่างๆ และทดสอบยูริกตามหลังว่า อาหารชนิดไหนที่ทำให้ยูริกสูงขึ้น ซึ่งยอดผักไม่ได้ทำให้ยูริกสูง สามารถทานได้เลย

ในการคุมยูริกนอกจากเลี่ยงการนำยูริกเข้าร่างกายแล้ว จึงต้องมีวิธีการเพิ่มการขับยูริกออกจากร่างกายด้วย คือ การดื่มน้ำเยอะๆ ซึ่ง 75% ของยูริกจะทำการขับออกทางไต เพราะฉะนั้นการดื่มน้ำเยอะๆ ก็จะช่วยระบายกรดยูริกออกไปได้ โดยไม่แนะนำให้ดื่มน้ำ RO (Reverse Osmosis) เป็นน้ำที่จะทำให้ไตทำงานหนักขึ้น ซึ่งเป็นน้ำที่กรองจนไม่เหลืออะไรอยู่ในน้ำ ไม่มีแร่ธาตุ สะอาดมากจนไม่เหลืออะไรเลย ซึ่งน้ำ RO เป็นน้ำที่เป็นกรด เมื่อทานน้ำที่เป็นกรดจะทำให้ไตทำงานหนักขึ้น จึงแนะนำให้ดื่มน้ำแร่ เพราะน้ำแร่จะมีความเป็นด่างแล้วความเป็นด่างจะทำให้ไตทำงานเบาลง และการดื่มน้ำแร่เยอะๆ จะช่วยให้ขับกรดยูริกออกได้ดี

3. คุมความดันโลหิตให้ดี เพราะว่าความดันโลหิตสูงที่สูงอยู่เป็นเวลานานก็จะทำให้เกิดไตวายได้เช่นกัน ในหลายคนที่มีความดันโลหิตสูงแต่ก็ไม่มีอาการจึงละเลยที่จะดูแลควบคุมความดันโลหิตของตัวเอง ความดันโลหิตสิ่งที่น่ากลัว คือ ผลแทรกซ้อนของความดันโลหิตสูงที่ทำให้เกิดปัญหาหลอดเลือดสมอง ซึ่ง 80% ของคนที่มีปัญหาเรื่องของหลอดเลือดสมอง ที่ทำให้เป็นอัมพฤกษ อัมพาต เป็นคนที่มีความดันโลหิตสูง แล้ว 70% ของคนที่มีโรคหัวใจขาดเลือดต่างๆ เป็นคนที่มีความดันโลหิตสูงเช่นกัน เพราะฉะนั้นถ้าไม่อยากให้เกิดไตวายก็ต้องดูแลความดันโลหิตให้ดี อย่ากลัวที่จะต้องทานยาลดความดันโลหิต เพราะว่าการทานยาลดความดันโลหิตจะสามารถป้องกันผลแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูงได้ ในกลุ่มยาลดความดันโลหิตจะต้องเลือกให้ดี ซึ่งบางกลุ่มสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนของไตวายได้ แนะนำควรปรึกษาแพทย์ว่าควรใช้ยาในกลุ่มไหนถึงจะดี

ในคนที่เป็นโรคเบาหวานก็มักจะเกิดไตวาย ซึ่ง 50% ของคนที่เป็นไตวายเรื้อรังแล้วต้องล้างไตเป็นคนไข้เบาหวาน จริงๆ แล้วคนไข้เบาหวานที่เป็นไตวาย เพราะว่าเลือกทานยาผิดประเภทนั่นเอง ดังนั้นแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เรื่องการทานยา ไม่แนะนำให้หยุดยาเอง ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่อยากเป็นโรคไตเราก็สามารถป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ได้ ทั้งการการคุมการกินยาไม่ควรกินในปริมาณมากเกินไป คุมยูริก เลี่ยงแอลกอฮอล์ ไม่ทานน้ำตาลฟรุกโตส ไม่ทานน้ำซุปน้ำแกง รวมถึงคุมเรื่องความดันโลหิตให้ดี ซึ่งถ้าเราคุมสิ่งเหล่านี้ได้ โอกาสที่จะเกิดไตวายก็จะน้อยลง เพราะฉะนั้นเราจึงควรใส่ใจดูแลสุขภาพของเราให้ดีกันนะคะ เพื่อจะได้ไม่เจ็บป่วย มีร่างกายที่แข็งแรงกันค่ะ : )

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *