หลายคนจะรู้แค่ว่า ยูริกสูงทำให้เกิดเก๊าท์ แต่ยังมีโรคอีกหลายโรคที่เกิดขึ้นเพราะยูริกสูง ซึ่งยูริกสูงย่อมเป็นภัยร้ายทำลายสุขภาพ การที่ยูริกสูงจะทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้างนั้น เรามาดูกันค่ะ
1. ยูริกสูงบ่งบอกว่า ร่างกายมีอนุมูลอิสระสูง ซึ่งการสร้างกรดยูริกของร่างกายเป็นการสร้างสารต้านอนุมูลอิสระขึ้นมา หากมียูริกสูงแสดงว่า ร่างกายเรามีอนุมูลอิสระสูงด้วย จึงเป็นเรื่องที่ไม่ดีเพราะหากมีอนุมูลอิสระสูงจะทำให้เซลล์ยิ่งเสื่อม ยิ่งแก่ เป็นบ่อเกิดของโรคภัยต่างๆ ตามมา
2. ยูริกสูงทำให้เกิด Metabolic Syndrome เป็นภาวะอ้วนลงพุง โดยสังเกตได้จากค่าเลือดที่ผิดปกติ คือ
- ค่าน้ำตาลจะสูง เริ่มสูงเกิน 100 ซึ่งทำให้รู้ว่ากระบวนการทางร่างกายเริ่มผิดปกติ เริ่มคุมน้ำตาลไม่ได้
- ค่าไขมัน HDL ต่ำ ในผู้ชายจะต่ำกว่า 40 ผู้หญิงต่ำกว่า 50 หรือมีค่าไตรกลีเซอร์ไรด์สูงเกินว่า 150
- ค่าความดันเริ่มสูงขึ้น ประมาณเกินว่า 130/85 แล้วความดันที่จัดว่าสูงแล้วต้องเริ่มกินยา คือ 140/90
- รอบเอวเริ่มใหญ่ขึ้น หรือเรียกว่า อ้วนลงพุง ในผู้ชายรอบเอวเกิน 37 นิ้ว ผู้หญิงรอบเอวเกินกว่า 31.5 นิ้ว
หากใน 4 ข้อนี้ ถ้ามี 3 ข้อขึ้นไป ถือว่าเกิด Metabolic Syndrome
3. ยูริกสูงบ่งบอก ภาวะก่อนเบาหวาน ในคนที่เป็น Metabolic Syndrome แล้วพบความผิดปกติ 3 ใน 4 ข้อนั้น ถือว่าเป็น ภาวะก่อนเบาหวาน ถ้ายังปล่อยไปเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดเบาหวานได้
4. ยูริกสูงผลที่ตามมา คือ เกิดความดันโลหิตสูง ซึ่ง 40% – 50% ของคนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมักจะมีร่วมกับการที่มีกรดยูริกสูงด้วย ถ้าคุมกรดยูริกได้ดีขึ้นก็จะคุมความดันได้ดีขึ้น (ถ้าเกิดความดันสูงในอายุน้อย ที่น้อยกว่า 40 ปี ควรตรวจดูยูริกดู)
5. ยูริกสูงมีผลเสียต่อระบบหัวใจ หลอดเลือด และหลอดเลือดสมอง ซึ่งยูริกมีลักษณะเป็นเหมือนผลึกเข็ม จึงทำให้ไปขูดกับผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดบาดเจ็บ เกิดหลอดเลือดเสื่อม มีผลทั้งหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง ยูริกจริงๆ แล้วเป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดสโตรก (Stroke) เพราะเวลาที่ยูริกไปทำให้หลอดเลือดบาดเจ็บเรื่อยๆ จะยิ่งทำให้หลอดเลือดแตกได้ง่ายมากขึ้น
6. ยูริกสูงทำให้เกิดเก๊าท์ เวลาที่ผลึกเข็มของกรดยูริกไปตกตะกอนในข้อ จะทำให้เกิดการอักเสบบริเวณข้อ ทำให้ข้อปวด ข้อบวมแดง ร้อนบริเวณข้ออย่างเฉียบพลัน
7. ยูริกสูงทำให้เลือดออกในทางเดินอาหาร อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระสีดำ เพราะว่าผลึกเข็มของยูริกมันไปตกผลึกอยู่ในทางเดินอาหาร จึงทำให้อาเจียนเป็นเลือด หากคุมกรดยูริกให้ดีเรื่องของอาการต่างๆ ที่มีก็จะหายไป
8. ยูริกสูงทำให้ไตวายเรื้อรัง ในคนที่เป็นโรคไตต้องคุมยูริกให้ดี ถ้าเกิดไม่คุมยูริกให้ดี แล้วปล่อยให้ยูริกสูงไปเรื่อยๆ จะทำให้ค่าไตแย่ลง หากมีไตวาย มีค่าการกรองของไตแย่เมื่อไหร่ ให้ไปคุมยูริกทันที ปกติโรงพยาบาลมักจะกำหนดไว้ว่า ถ้าค่ายูริกไม่เกิน 7.2 ถือว่าปกติ แต่ค่า 7.2 ที่กำหนดนั้นเป็นค่าที่บ่งบอกว่า ยูริกจะไปตกตะกอนในข้อแล้ว เพราะฉะนั้นจึงต้องคุมให้ต่ำกว่า 7.2 จะดีที่สุด แล้วพบว่า ถ้าปล่อยให้ยูริกเกิน 7 ความเสี่ยงในการเกิดโรคไตวายเรื้อรังจะเพิ่มขึ้นทันที ในผู้ชายจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคไตวายเรื้อรังเพิ่มขึ้น 2 เท่า ส่วนผู้หญิงจะเพิ่มขึ้น 3 เท่า แต่หากเกิดมีค่ายูริกเกิน 8 ความเสี่ยงของผู้ชายที่จะเกิดไตวายเรื้อรังจะสูงขึ้น 3 เท่า ส่วนผู้หญิงจะสูงขึ้น 10 เท่า เลยทันที
9. ยูริกสูงทำให้เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือนิ่วที่ไต ซึ่งยูริกยิ่งสูงจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการเกิดนิ่วได้มากขึ้น หากกำจัดยูริกออกได้การตกตะกอนของนิ่วต่างๆ ก็จะมีน้อยลง แล้วอย่างที่รู้ว่า ยูริกสูงมีส่วนทำให้ไตวายอยู่แล้ว แล้วหากยังมีนิ่วในทางเดินปัสสาวะอีก ยิ่งทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันมากขึ้นไปด้วย
10. คนที่มีซีสต์ที่ไต ถ้าไม่คุมยูริกโอกาสที่จะเกิดไตวายแล้วต้องล้างไตจะมีสูงขึ้น หากคุมยูริกดีโอกาสที่ไม่ต้องล้างไตก็สูงขึ้นด้วย จึงควรคุมยูริกให้ดีหากไม่อยากไตวายแล้วต้องล้างไต
ยูริกสูง แก้ไขอย่างไรดี?
1. การคุมอาหารที่มียูริกสูง ควรเลี่ยงกินจะดีที่สุด
2. ดื่มน้ำมากๆ โดยเฉพาะน้ำแร่หรือน้ำด่าง ซึ่งการดื่มน้ำมากๆ จะช่วยขับกรดยูริกออกได้เยอะ ปกติแล้ว 70% ของกรดยูริกจะขับออกที่ไต เพราะฉะนั้นหากดื่มน้ำเยอะการขับกรดยูริกออกก็จะขับออกได้ดีขึ้น
3. กิน Celery (ขึ้นฉ่ายฝรั่ง) เป็นตัวที่ขับกรดยูริกออกได้ดี ช่วยลดยูริกได้ จะกินสดหรือกินที่อัดเป็นแคปซูลก็ได้ หากเป็นอาหารเสริมแนะนำ Celery หรือแมกนีเซียม ซึ่ง Celery ช่วยลดกรดยูริกได้ ส่วนแมกนีเซียมจะทำให้ร่างกายเป็นด่างมากขึ้น ซึ่งแมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุที่ทำให้ร่างกายเป็นด่างมากที่สุดในบรรดาแร่ธาตุต่างๆ ยิ่งร่างกายเป็นด่างมากขึ้นกรดยูริกก็จะไม่ค่อยตกผลึก จะละลายได้ง่ายขึ้น ขับออกได้ง่ายขึ้น แล้วยังช่วยเรื่องของความดันที่เป็นผลพวงของยูริกได้อีกด้วย
เมื่อรู้กันแล้วว่า ยูริกสูงมีโทษต่อร่างกาย การคุมยูริกให้ดีจึงสำคัญ คนที่มีโรคประจำตัวควรต้องคุมยูริกให้ดี คุมอาหารการกิน เลี่ยงอาหารที่มียูริกสูง ในคนอายุน้อยแล้วเป็นความดันก็ควรตรวจหาค่ายูริกดู หากคุมยูริกได้ดีความดันก็จะดีขึ้นด้วย อย่างไรก็หันมาสนใจเรื่องยูริกกันให้มากขึ้นนะคะ เพราะยูริกไม่ได้ทำให้เกิดเก๊าท์เพียงเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้เกิดโรคภัยต่างๆ อีกมาก อยากห่างไกลโรคภัยเริ่มต้นด้วยการดูแลยูริกกันนะคะ
นพ. อรรถสิทธิ์ ศักดิ์สุธาพร (หมออรรถ)
ประจำอยู่ที่ Health Focus Clinic
📍The Grove Hathairaj (เดอะ โกรพ หทัยราษฏร์)