โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ “โรคหลอดเลือดสมองตีบ” (Ischemic Stroke) และ “โรคหลอดเลือดสมองแตก” (Hemorrhagic Stroke) โดยโรคหลอดเลือดสมองตีบเป็นประเภทที่พบได้มากถึงร้อยละ 87 ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเลยทีเดียวครับ แล้วอาการเริ่มแรกของโรคหลอดเลือดในสมองตีบเป็นอย่างไร บทความนี้จะพาทุกท่านมาศึกษาเพื่อเป็นข้อมูลในการดูแลตัวเองและคนรอบข้างครับ
รู้จัก “โรคหลอดเลือดสมองตีบ”
“โรคหลอดเลือดสมองตีบ” (Ischemic Stroke) เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองเกิดการอุดตัน ทำให้สมองได้รับเลือดและออกซิเจนลดลง ส่งผลให้เซลล์สมองถูกทำลายหรือตาย ผู้ป่วยอาจมีอาการชาหรืออ่อนแรงในบางส่วนของร่างกาย เช่น ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด มองเห็นภาพซ้อน และหากการไหลเวียนของเลือดไม่กลับมาสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลให้สมองบริเวณที่ขาดเลือดถูกทำลายถาวรได้
“โรคหลอดเลือดสมองตีบ” มีอาการเริ่มแรกอย่างไร?
อาการเริ่มแรกของ “โรคหลอดเลือดสมองตีบ” อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับส่วนของสมองที่ได้รับความเสียหาย อาการเริ่มแรกที่พบได้มีดังนี้
1. อ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่งของร่างกาย
อาจมีอาการอ่อนแรงหรือไม่สามารถเคลื่อนไหวข้างใดข้างหนึ่งของร่างกายได้
2. ปัญหาในการพูด
อาจมีปัญหาในการพูด มีคำพูดที่ปนกันหรือสับสน พูดไม่ชัดหรือมีปัญหาในการสื่อสารหรือการทำความเข้าใจ
3. อาการสับสน
อาจมีอาการสับสน ไม่เข้าใจเหตุผล หรือไม่สามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้
4. สูญเสียการมองเห็น หรือสูญเสียการรับรู้หรือเคลื่อนไหวบริเวณใบหน้า
อาจมีการสูญเสียการมองเห็นข้างใดข้างหนึ่ง หรือปัญหาในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว รู้สึกชาที่ใบหน้าหรือมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าอย่างเฉียบพลัน อาจมีอาการปากเบี้ยว
5. อาการเจ็บปวดหรือความรู้สึกแปรปรวน
อาจรู้สึกเจ็บปวดในหัวหรือบางส่วนของร่างกาย แต่อาการนี้อาจไม่เป็นที่เข้าใจถูกต้องเนื่องจากการรับรู้ของร่างกายขัดข้อง
6. เสียการทรงตัวหรือมีปัญหาในการเดิน
อาจมีอาการเดินเซหรือเดินลำบาก ทรงตัวไม่ได้ และอาจมีภาวะบ้านหมุนร่วมด้วย
7. ปวดศีรษะอย่างรุนแรงและเฉียบพลัน โดยไม่ทราบสาเหตุ
8. อาการอื่น ๆ
อาจมีอาการหายใจเจ็บหน้าอก สับสน หมดสติ หรืออาจไม่มีสามารถรับรู้เหตุการณ์รอบตัวได้
อาการ “โรคหลอดเลือดสมองตีบ” มักเกิดอย่างรวดเร็วและจำเป็นต้องรับการรักษาเร่งด่วน เพื่อลดความเสี่ยงของความเสียหายในสมอง หากพบว่าคุณหรือคนรอบตัวคุณมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำส่งโรงพยาบาลทันที เนื่องจากยิ่งได้รับการรักษาเร็ว ยิ่งมีโอกาสดีขึ้นหรือฟื้นตัวได้มากครับ
รักษาโรคหลอดเลือดสมองอย่างไร?
การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง ขึ้นอยู่กับประเภทและความรุนแรงของโรค กรณี “โรคหลอดเลือดสมองตีบ” การรักษาจะเน้นเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปที่สมอง มีการให้สารน้ำและยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือดร่วมด้วย ส่วนกรณี “โรคหลอดเลือดสมองแตก” การรักษาจะเน้นหยุดเลือดที่ออกมาคั่งในสมอง อาจมีการผ่าตัดเพื่อนำก้อนเลือดที่กดทับเนื้อสมองออก
เป็นโรคหลอดเลือดสมองแล้ว ควรฟื้นฟูอย่างไร?
- การควบคุมปัจจัยเสี่ยง
การควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำ เช่น การควบคุมความดันโลหิต การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด การควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือด หลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นการอักเสบในร่างกาย การเลิกสูบบุหรี่ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การจัดการความเครียด และการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- กายภาพบำบัด
หลังจากการรักษา หากผู้ป่วยมีความเสียหายที่สมอง การฟื้นฟูสมองด้วยการทำกายภาพบำบัด (Rehabilitation) ถือเป็นส่วนสำคัญ ระบบการฟื้นฟูอาจรวมถึงการฝึกการเคลื่อนไหว (Physical therapy) การฝึกการพูด (Speech therapy) และการฝึกการทำกิจวัตรประจำวัน (Occupational therapy) เพื่อช่วยผู้ป่วยกลับคืนสมรรถนะที่ดีขึ้น
- เปปไทด์บำบัด
ปัจจุบันมีการนำเปปไทด์มาใช้ในการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ตัวอย่างเช่น การใช้เปปไทด์ที่สกัดมาจากสมองของหมู (Cerebrolysin) ช่วยทำให้ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยจะไปช่วยลดการตายของเซลล์ประสาท และกระตุ้นการซ่อมแซมเซลล์ประสาท นอกจากนี้การใช้เปปไทด์ยังมีส่วนช่วยเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ สามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมได้
- เซลล์บำบัด
การใช้เซลล์บำบัด หรือ สเต็มเซลล์ สามารถช่วยซ่อมแซมเซลล์ที่เสื่อมสภาพในร่างกายรวมถึงเซลล์ประสาทได้ สเต็มเซลล์ที่นิยมนำมาใช้ในปัจจุบัน คือ สเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อสายสะดือ เป็นเซลล์ต้นกำเนิดชนิด Mesenchymal Stem Cells (MSCs) ซึ่งสามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์ประเภทต่าง ๆ รวมถึงเซลล์ประสาท ช่วยต้านการอักเสบ และกระตุ้นการซ่อมแซมฟื้นฟูเซลล์ที่เสื่อมในร่างกายได้
“โรคหลอดเลือดสมองตีบ” ถือเป็นภัยที่มีความน่ากลัวอย่างมาก การไม่เป็นโรคนี้จึงเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องหมั่นดูแลสุขภาพของตัวเอง และตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีนะครับ