โรคมะเร็งสาเหตุการตายอันดับ 1
ปัจจุบันประชาคมโลกได้ให้ความสำคัญกับโรคมะเร็งมากขึ้น ในแต่ละปีมะเร็งได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกในอัตราที่สูงมากขึ้น เพื่อให้คนทั่วโลกตระหนักถึงภัยร้ายจากโรคมะเร็ง รวมถึงรณรงค์ให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพของตนเอง องค์การอนามัยโลกและสมาคมต่อต้านมะเร็งสากลกำหนดให้ ทุกวันที่ 4 กุมภาพันธ์ เป็นวันมะเร็งโลก (World Cancer Day) หลังจากพบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชาคมโลกปีละกว่าสิบล้านคนซึ่งในจำนวนนี้มีคนอายุระหว่าง 30-69 ปีกว่าครึ่งที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร สะท้อนถึงแนวโน้มการเกิดโรคมากขึ้นในกลุ่มคนวัยทำงาน อันสืบเนื่องมาจากวิถีการดำเนินชีวิตยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต
สำหรับในประเทศไทย โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ติดต่อกันหลายสิบปี โดยจากข้อมูลล่าสุดพบคนไทยเสียชีวิตจากโรคนี้ถึงปีละกว่า 67,000 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน และพบผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยราว 120,000 คนต่อปี ซึ่งพบมากที่สุดในเพศชาย คือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ส่วน 5 อันดับโรคมะเร็งในผู้หญิงไทย ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
อาการน่าสงสัยว่าเป็นมะเร็ง
ไม่มีอาการเฉพาะของโรคมะเร็ง แต่เป็นอาการเช่นเดียวกับการอักเสบของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่เป็นมะเร็ง โดยที่แตกต่างคือ มักเป็นอาการที่แย่ลงเรื่อย ๆ และเรื้อรัง ดังนั้นเมื่อมีอาการต่าง ๆ นานเกิน 1 – 2 สัปดาห์ จึงควรรีบพบแพทย์ อย่างไรก็ตามอาการที่น่าสงสัยว่าเป็นมะเร็ง ได้แก่
1.มีก้อนเนื้อโตเร็วหรือมีแผลเรื้อรัง ไม่หายภายใน 1 – 2 สัปดาห์หลังจากการดูแลตนเองในเบื้องตัน
2.มีต่อมน้ำเหลืองโต คลำได้ มักจะแข็ง ไม่เจ็บ และโตขึ้นเรื่อย ๆ
3.ไฝ ปาน หูดที่โตเร็วผิดปกติหรือเป็นแผลแตก
4.หายใจหรือมีกลิ่นปากรุนแรงจากที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
5.เลือดกำเดาออกเรื้อรัง มักออกเพียงข้างเดียว (อาจออกทั้งสองข้างได้)
6.ไอเรื้อรังหรือไอเป็นเลือด
7.มีเสมหะ น้ำลาย หรือเสลดปนเลือดบ่อย
ระยะของมะเร็ง
โดยทั่วไปโรคมะเร็งมี 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 – 4 ซึ่งทั้ง 4 ระยะ อาจแบ่งย่อยได้อีกเป็นอีกเป็น เอ (A) บี (B) หรือ ซี (C) หรือ เป็น (1) หรือ (2) เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยประเมินการรักษา ส่วนโรคมะเร็งระยะศูนย์ (0) ยังไม่จัดเป็นโรคมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะเซลล์เพียงมีลักษณะเป็นมะเร็ง แต่ยังไม่มีการรุกราน (Invasive) เข้าเนื้อเยื่อข้างเคียง
- ระยะที่ 1 : ก้อนเนื้อ / แผลมะเร็งมีขนาดเล็ก ยังไม่ลุกลาม
- ระยะที่ 2 : ก้อน / แผลมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามภายในเนื้อเยื่อ/อวัยวะ
- ระยะที่ 3 : ก้อน / แผลมะเร็งขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ / อวัยวะข้างเคียง และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เนื้อเยื่อ / อวัยวะที่เป็นมะเร็ง
- ระยะที่ 4 : ก้อน / แผลมะเร็งขนาดโตมาก และ / หรือลุกลามเข้าเนื้อเยื่อ / อวัยวะข้างเคียง จนทะลุ และ / หรือเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ก้อนมะเร็ง โดยพบต่อมน้ำเหลืองโตคลำได้ และ / หรือมีหลากหลายต่อม และ / หรือ แพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต และ / หรือ หลอดน้ำเหลือง / กระแสน้ำเหลือง ไปยังเนื้อเยื่อ / อวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก ไขกระดูก ต่อมหมวกไต ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง ในช่องอก และ / หรือต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า
สาเหตุอะไรที่ทำให้เกิดมะเร็ง
ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งกว่าร้อยละ 90 เป็นสาเหตุจากปัจจัยภายนอก ไม่ใช่เรื่องพันธุกรรมในครอบครัวอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ ปัจจัยภายนอกที่ว่านั้นคือพฤติกรรมการปฎิบัติตัวให้สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง มีดังนี้
- พฤติกรรมการกินเนื้อสัตว์ประเภทปิ้งย่าง อาหารทอด อาหารไขมันสูง หรือรับประทานอาหารซ้ำ ๆ
- การสูบบุหรี่
- การดื่มสุรา
- ความเครียด
- การได้รับรังสี
- ติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย พยาธิ
- ความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน
- ความอ้วน
- ไม่ออกกำลังกาย
- ไม่ทานผัก-ผลไม้สด
สัญญาณอันตราย 7 ประการ
สัญญาณอันตราย 7 ประการที่ควรรีบมาพบแพทย์ ได้แก่
1.มีเลือดหรือสิ่งผิดปกติออกจากร่างกาย เช่น มีตกขาวมากเกินไป
2.มีก้อนหรือตุ่มเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งของร่างกายและก้อนนั้นโตเร็วผิดปกติ
3.มีแผลเรื้อรัง
4.มีการถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ผิดปกติหรือเปลี่ยนไปจากเดิม
5.เสียงแหบ ไอเรื้อรัง
6.กลืนอาหารลำบาก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
7.มีการเปลี่ยนแปลงของหูด ไฝ ปาน เช่น โตผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์
ป้องกันโรคมะเร็ง
วิธีป้องกันโรคมะเร็งที่ดีที่สุด คือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ ซึ่งที่สำคัญ คือ
- กินอาหารมีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ทุกวันในปริมาณที่เหมาะสม คือ ไม่ให้อ้วนหรือผอมเกินไป โดยจำกัดเนื้อแดง แป้ง น้ำตาล ไขมัน เกลือ แต่เพิ่มผัก ผลไม้ให้มาก ๆ
- ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสุขภาพสม่ำเสมอ
- เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง / การตรวจสุขภาพประจำปี
- หลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็ง
รักษามะเร็ง
1.การผ่าตัด การเอาก้อนที่เป็นมะเร็งออกไป
2.รังสีรักษา การให้รังสีกำลังสูงเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
3.เคมีบำบัด การให้ยา (สารเคมี) เพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง
4.ฮอร์โมนบำบัด การใช้ฮอร์โมนเพื่อยุติการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
5.การรักษาแบบผสมผสาน การรักษาร่วมกันหลายวิธีดังกล่าวข้างต้น แต่จะใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของโรค
4 เสาหลักในการรักษามะเร็ง
1.Stop making cancer หยุดสร้างเซลล์มะเร็ง คือการทำให้สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง หรือเรียกง่ายๆว่าเราไม่ให้อาหารเซลล์มะเร็ง ยกตัวอย่างเปรียบเทียบง่ายๆ เช่น เรามีผืนดินอยู่ผืนหนึ่ง ปลูกพืชได้หลากหลายชนิด ดินบางชนิดจะเหมาะกับพืชบางชนิด เปรียบเทียบให้ดินเป็นร่างกายของเรา ซึ่งตัวเราเองต้องทำให้สภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง มีอย่างหนึ่งที่ทำได้โดยง่ายเลยคือ งดน้ำตาล เพราะน้ำตาลคืออาหารชั้นดีของเซลล์มะเร็ง ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งแล้วให้หยุดทานน้ำตาล ยิ่งทานน้ำตาลมากยิ่งให้อาหารเซลล์มะเร็งมาก ซึ่งเซลล์มะเร็งเป็นเซลล์ที่มีตัวรับน้ำตาลเยอะกว่าเซลล์ปกติถึง 18 เท่า เวลาทานน้ำตาลเข้าร่างกายเซลล์มะเร็งจะได้ก่อน หากผู้ป่วยติดทานหวาน ไม่หยุดน้ำตาลก็จะไม่สามารถหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ ในคนปกติที่ไม่ได้ป่วยเช่นกันหากไม่อยากป่วยเป็นโรคมะเร็งควรทานน้ำตาลน้อยๆ ในการทดลองหนึ่งเชื่อว่ามะเร็งเกิดจากกรรมพันธุ์หรือพันธุกรรม ซึ่งการทดลองนี้ทดสอบให้เห็นว่ามะเร็งไม่ได้เกิดจากกรรมพันธุ์เท่านั้น แต่เกิดจากสภาพแวดล้อมในร่างกายได้เหมือนกัน ซึ่งในการทดลองจะนำเซลล์ที่มีอวัยวะนิวเคลียสอยู่ ในนิวเคลียสจะมีสารพันธุกรรมต่างๆ โดยทั่วไปจะคิดว่านิวเคลียสเป็นหัวหน้าของเซลล์คอยสั่งการต่างๆ และการทดลองนี้นำนิวเคลียสที่เป็นมะเร็งไปใส่ในเซลล์ปกติที่มีสภาพแวดล้อมปกติที่ไม่ได้เอื้ออำนวยต่อการเกิดโรคมะเร็ง ซึ่งผลที่ได้คือเซลล์มีการแบ่งตัวแบบปกติ ไม่ได้แบ่งตัวออกมาเป็นเซลล์มะเร็งตามนิวเคลียสที่เป็นมะเร็ง
2.การรักษาที่ไม่ทำอันตรายต่อเซลล์ปกติแต่ทำอันตรายเฉพาะเซลล์มะเร็ง การให้เคมีบำบัดไม่ได้เลือกทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งทำลายทั้งเซลล์ปกติและเซลล์มะเร็ง ในคนไข้ที่เป็นมะเร็งที่ได้ทำเคมีบำบัดหลายไซเคิล ถ้ามีการให้ไปเรื่อยๆ ถึงจุดที่ร่างกายผู้ป่วยอ่อนเพลีย เหนื่อยล้ามากๆ อย่าทนให้ต่อ แต่ไม่ได้ให้หยุดถาวร แต่ควรปรึกษาแพทย์ให้เช็คสถานะร่างกาย หรือค่าเลือดต่างๆดูก่อน เนื่องจากมีหลายเคสที่เสียชีวิตจากเคมีบำบัด ไม่ได้เสียชีวิตจากเซลล์มะเร็ง ส่วนการรักษาที่มุ่งทำลายเฉพาะเจาะจงแค่เซลล์มะเร็งแล้วไปเป็นผลเสียกับร่างกายผู้ป่วย ได้แก่ สารอาหารขนาดสูงจำพวกวิตามินหรือตัวช่วยขจัดเซลล์มะเร็ง หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ซึ่งสารอาหารเหล่านี้เซลล์ในร่างกายจะรู้จักดีอยู่แล้ว และหากรับในปริมาณที่สูงเซลล์ปกติจะกำจัดออกได้เอง โดยไม่มีผลข้างเคียง แต่ต่างจากเซลล์มะเร็งที่ไม่สามารถกำจัดออกได้เอง ซึ่งจะทำให้เป็นพิษต่อเฉพาะกับเซลล์มะเร็งเท่านั้นไม่ทำอันตรายเซลล์ปกติ
3.เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ดี การที่จะสามารถชนะมะเร็งได้อย่างยั่งยืนต้องอาศัยภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราเท่านั้น เซลล์มะเร็งเกิดขึ้นได้ทุกวันแต่ภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราสามารถจัดการเซลล์มะเร็งเหล่านี้ได้ ตัวอย่างเช่น ร่างกายสร้างเซลล์มะเร็งขึ้นมาทุกวัน วันละ 100 เซลล์ แต่ภูมิคุ้มกันในร่างกายสามารถ ฆ่าเซลล์มะเร็งได้วันละ 300 เซลล์ ซึ่งร่างกายนี้จะไม่มีวันเป็นมะเร็งได้ เพราะภูมิคุ้มกันกำจัดเซลล์มะเร็งได้ แต่พอเวลาที่ร่างกายอายุมากขึ้นเซลล์จะเสื่อมสภาพมากขึ้น ผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ เนื่องจากเซลล์มะเร็งเสื่อมเริ่มเพี้ยนจะแบ่งตัวผิดปกติ ทำให้เกิดเซลล์มะเร็งที่ผิดปกติเยอะขึ้น รวมถึงบางช่วงชีวิตที่ใช้ชีวิตไม่ดีไลฟ์สไตล์ไม่ดีกินสารก่อมะเร็งเยอะ เช่น อาหารแปรรูปเยอะ ซึ่งอาหารจำพวก ไส้กรอก แฮม ฯลฯ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า เป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งจะสามารถทำให้เซลล์มะเร็งเยอะขึ้นได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีอายุที่มากเลย ตัวอย่างเช่น ร่างกายสร้างเซลล์มะเร็ง 300 เซล์ต่อวัน แต่ภูมิคุ้มกันกำจัดได้เพียงวันละ 200 เซลล์ นั่นหมายความว่าเราจะเป็นมะเร็งอย่างแน่นอน ดังนั้นควรเสริมภูมิคุ้มกันตั้งแต่ผู้ที่ยังไม่ป่วยมะเร็งจนถึงผู้ป่วยมะเร็งเพื่อเป็นการชนะมะเร็งในระยะยาว จากผลการทดลองของ ดร.โคบายาชิ จากญี่ปุ่น พบว่าโดยทั่วไปผู้ป่วยมะเร็งจะมี Vitamin A, D, E, ต่ำ ควรเสริมเพิ่มขึ้นมาหากไม่อยากป่วยเป็นมะเร็ง
4.การให้ความรู้ ต้องมีความรู้ในการดูแลตัวเองต่อหลังจากรักษาแล้ว ต้องมีเปลี่ยนการใช้ชีวิต และการกินอาหาร จะต้องมีองค์ความรู้ในการที่จะสร้างสภาพแวดล้อม ของร่างกายเราให้ไม่เอื้ออำนวยต่อเซลล์มะเร็ง และนำความรู้ตรงนี้ไปปฏบัติต่อตัวไป
พันธุกรรมกับความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง
โรคมะเร็งเกิดจากสาเหตุหลายๆ ปัจจัยร่วมกัน เช่น สภาวะแวดล้อม ลักษณะการดำเนินชีวิต สืบทอดทางพันธุกรรม ปัจจัยเสี่ยงบางอย่างนั้นสามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ทางพันธุกรรมนั้น วิธีการป้องกันจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งแต่ละคนมีปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งต่างกัน หากสามารถป้องกันตนเอง โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง และรับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากพบว่าเมื่อมีมะเร็งเกิดขึ้นแล้ว สามารถตรวจพบได้ก่อนในระยะเริ่มแรก และรีบทำการรักษา ก็มีโอกาสหายขาดได้
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง
• มีประวัติครอบครัวบ่งชี้ถึงความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งที่สืบทอดทางพันธุกรรม
• สามารถตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของยีนได้ชัดเจนว่า มี หรือ ไม่มี
• ผลการตรวจให้ข้อมูลที่ช่วยชี้นำการดูแลทางการแพทย์ในอนาคต
ลักษณะความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งที่สืบทอดทางพันธุกรรม
• มีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งเมื่ออายุยังน้อย
• มีมะเร็งหลายชนิดเกิดขึ้นในคนเดียวกัน
• เกิดมะเร็งในอวัยวะที่มีเป็นคู่ โดยเกิดมะเร็งทั้ง 2 ข้าง
• มีญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งชนิดเดียวกัน
• เกิดมะเร็งในสภาวะที่ไม่พบบ่อย เช่น มะเร็งเต้านมในเพศชาย
• มีความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น ก้อนที่ผิวหนังหรือกระดูก ที่สัมพันธ์กับกลุ่มอาการของมะเร็งทางพันธุกรรม
• มีเชื้อชาติที่เสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการของโรคมะเร็งทางพันธุกรรม